โดย มติชน วัน อาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 11:50 น.


ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 14 ก.ย. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และพล.ต.อ.พัรชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่างการยกเลิกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เขตกรุงเทพมหานคร ภายหลังภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาการยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยหลังจากนี้ จะใช้กฎหมายปกติในการปฎิบัติควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้แนวโน้มอยู่ในทางปกติไม่มีเหตุการณ์รุนแรง รวมถึงหากมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนและกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม


ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผบ.ทบ.เป็น ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งแนวทางการปฎิบัติจะมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมี ผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบในการปฎิบัติหน้าที่ดูแลความไม่สงบภายใน หากเกินกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถร้องขอทหารเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะ ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน


ทั้งนี้ นายสมชายบอกว่าย เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำบ้านเมืองบอบช้ำเสียหายไปมาก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว คิดว่าเวลานี้คนไทยทุกคนควร หันหน้าเข้าหากันมาเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น ค้นหาจุดแตกต่างกันให้ได้ ค้นให้เจอ ในฐานะ ที่เป็นรัฐบาล มีหน้าที่ที่ต้องดูแลตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราวและจะละเลยเพิกเฉย อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นโอกาสให้ประเทศ มีความปรองดอง เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง คิดว่า วันนี้ไม่ควรแตกแยก การรบราฆ่าฟันไม่มีประโยชน์ ไม่มีฝ่ายใดแพ้เกิดขึ้นมีปัญหาที่ต้องต่อสู้มากมาย มีเรื่องที่ต้องแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย ไม่มีเวลาที่ต้องมานั่งทะเลาะกันและปล่อยให้คนที่ประสบภัยธรรมชาติต้องได้รับความเดือดร้อน คนที่มีความรู้ ต้องมาช่วยกันทำชีวิต


ขอร้องให้เคารพกฎหมาย เหตุผล กติกา เพื่อให้อยู่กันอย่างเป็นสุข ทั้งนี้ การทำทุกอย่างเพื่อชาติ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่รักยิ่งของคนในชาติที่ควรคำนึงถึง ต่อจากนี้ ขอให้ทุกอย่างเดินทางไปสู่ความสงบสุข ความสมานฉันท์ เรียกร้อยยิ้มของไทยให้กลับมาให้เป็นสยามเมืองยิ้มอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก ต้องเรียกร้องสิ่งนี้กลับคืนมา จากการที่เสียหายทางการท่องเที่ยว นายสมชายกล่าว และว่า ต่อจากนี้ ขอให้คำนึงถึงถึงการลดใช้ความรุนแรง เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะบรรยากาศจากนี้ไปจะเข้าสู่งานถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อจัดงานถวายให้สมพระเกียรติ เพื่อให้คนไทยมีหัวใจเดียวกัน มีความจงรักภักดี ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่งานฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


นายสมชายแถลงต่อว่า ต่อจากนี้ ผบ.ตร. จะเข้ามาดูแลทุกข์สุข ดูแลผู้ชุมนุม ขอให้ใช้เหตุผลไต่ตรองดีที่สุด รัฐบาลห่วงใยผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอให้ทุกคนที่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลออกมาอยู่ข้างนอก เพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ราชการ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณ ผบ.ทบ. และผบ.ตร. ที่ดูแลความเรียบร้อยในประเทศ ในการลดความร้อนแรงลง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ เห็นใจผู้ชุมนุม แต่อยากเรียกร้องให้แก้ปัญหาให้ชาติบ้านเมือง สิ่งใดที่เป็นเหตุผลให้เอามาใช้ อย่าเอาชนะกัน ช่วยกันทำให้ประเทศ กลับมารุ่งเรือง สงบสุขอีกครั้ง

โดย มติชน วัน อาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 13:20 น.

เมื่อเวลา 10.00 น.ย วันที่ 14 ก.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมือง ว่า เมื่อปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงสนับสนุนพรรคพลังประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่า พรรคพลังประชาชนจะเสนอใครก็ตามมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการแสดงให้เห็นเนื้อแท้ที่ว่า ไม่ว่า จะเป็นอย่างไรบุคคลที่จะเสนอก็จะไม่พ้นคนในพรรคพลังประชาชน แม้นายสมัคร สุนทรเวช จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ก็ยังคงทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ประกอบกับยังมีการเสนอให้นิรโทษกรรม คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย โดยภาพที่ออกมายังคงแสดงให้เห็นว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนยังไม่มีความพร้อม

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเมื่อพรรคที่มีเสียงข้างมากยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาประชาชน และตัวเองว่า จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างไร ก็จะต้องยืนยัน 3 ข้อว่า 1. จะต้องไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหนีคดียุบพรรค เพราะหากยังมีการจับขั้วเดิม กรอบของการยุบพรรคจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการจับขั้ว เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ามากยิ่งขึ้น 2. สาเหตุของความขัดแย้งคือ ความพยายามที่จะแทรกแซงขบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ เพื่อช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จะต้องให้สัญญากับกระชาชนว่า เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว และจะต้องนำตัว พ.ต.อ.ทักษิณ มารับการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อใด สุดท้ายคือ ข้อย 3.การที่บ้านเมืองมาถึงทางตัน จะทำให้เกิดความบาดหมางส่งผลให้เกิดความรุนแรง ดังนั้น พรรคพลังประชาชน ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องออกมาบอกว่า ตัวเองมีความพร้อม และมีจุดยืนในการปลดชนวนวิกฤติอย่างไร ด้วยกลไกอย่างไรบ้าง จึงจะเป็นที่พรรคพลังประชาชนจะต้องออกมาให้สัญญาประชาคม

โดย กรุงเทพธุรกิจ วัน อาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 11:39 น.

แกนนำพันธมิตรไม่ยอมนายกฯที่มาจากพรรคพลังประชาชน เสนอการเมืองใหม่ไว้ซึ่ง สว. และให้ใช้อำนาจตุลาการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

นายสนธิ ลิ้มทองกุลนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวย้ำไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม พร้อมระบุพันธมิตรฯ จะไม่ยุติการเคลื่อนไหว จนกว่าทุกพรรคการเมืองจะยอมรับและมาร่วมผลักดันการเมืองใหม่ตามแนวคิดของพันธมิตรฯ ให้เกิดขึ้น โดยการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น

นอกจากประชาชนจะมีส่วนร่วมแล้ว ยังต้องมีกลไกป้องกันการเข้ามาหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน โดยเฉพาะการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทย เช่น ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน เป็นต้น
นายสนธิ ยังได้เปิดประเด็นหนทางสู่การเมืองใหม่ โดยเสนอเบื้องต้นให้คงไว้เฉพาะสมาชิกวุฒิสภา และให้ใช้อำนาจตุลาการยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการสรรหาที่ต่างไปจากปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภาฯ.



โดย คม ชัด ลึก วัน อาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 00:10 น.


(13ก.ย.)เวลา 14.00น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาบทบาทนักศึกษาในสถานการณ์วิกฤตการเมือง โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ ดีเบต 4 ขั้ว ประกอบด้วย นายศตวรรษ อินทรยุทธ ตัวแทนสาธิตมัฆวาน (Young PAD) นายธนากร สัมมาสาโก ตัวแทน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) นายอนุธีร์ เดชเทวพร ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) นายกฤติกร วงศ์สว่างพานิช ตัวแทนกลุ่มประชา ธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก(กปก.)


สำหรับการดีเบต มีตัวแทนจาก 3ฝ่ายที่เห็นไปในทางเดียวกันประกอบด้วย สนนท. อมธ. และกปก. ซึ่งเห็นว่าการกระทำที่ผ่านมาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่อารยะขัดขืนโดยแท้จริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้แกนนำทั้ง 9 คนของ พธม. มอบตัวแล้วต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ พธม. เคารพกติกาและชุมนุมเรียกร้องโดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนโดยไม่ควรล้ำเส้น เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าทั้ง 2 ฝ่าย ดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งอยากจะเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมควรกลับมาสู่จุดที่ควรจะเป็น ในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรง


ตัวแทนจากสาธิตมัฆวาน กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นักศึกษาที่ยังไม่ได้เลือกข้างออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง อย่ามัวแต่ไปเล่นเกมไร้สาระอยู่ ไม่ว่านักศึกษาจะเลือกข้างพธม. หรือ นปช. ก็ยังเป็นการแสดงออกที่ดีว่าคนรุ่นใหม่สนใจในปัญหาบ้านเมือง ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นอารยะขัดขืนต่อความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล การที่แกนนำทั้ง 9 ยังไม่เข้ามอบตัวเพราะยังไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม


ด้านนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมเรามีความคิดที่แตกต่างหลายฝ่าย ซึ่งตนมีความเป็นห่วงและคิดว่าการต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจฉ้อฉล จะต้องกำหนดวิธีการและเป้าหมายให้แตกต่างจากการต่อสู้รัฐบาลทรราชย์ในอดีต และควรทิ้งกรอบการต่อสู้แบบ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เนื่องจากพื้นฐานของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว สำหรับนักศึกษามีจุดเด่นที่สติปัญญา อย่าไปติดกับดัก รับเคลื่อนไหวให้กลุ่มการเมืองใด โดยนักศึกษาต้องเป็นผู้นำทางการเมืองไม่ใช่ผู้ตาม อย่าไปเล่นการเมืองน้ำเน่า ต้องช่วยกันคิดว่าจะปฏิรูปให้หลุดจากการเมือง 2 ขั้ว
ผมมองการเคลื่อนไหวของ พธม.ว่าเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสวนทางต่อประชาธิปไตย เพราะ พธม. มุ่งไปข้างหน้าโดยไม่ฟังเสียงใคร คิดว่าตัวเองคือเจตจำนงของประชาชนทั้งหมด ทั้งที่พันธมิตรฯ เป็นเพียงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน หากพันธมิตรฯ ต้องการเริ่มต้นการเมืองใหม่ ต้องยอมถอยเพื่อให้การเมืองกลับเข้าสู่ระบบเดิมและมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 นายประจักษ์ กล่าว


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้นี้ กล่าวอีกว่า ถ้าอยากจะออกจากทางตันของการเมืองน้ำเน่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 การที่แกนนำ พธม. ออกมาเสนอการเมืองใหม่ ยื่นเงื่อนไขแตกหัก 70:30 ทั้งที่ตัวเองยังไม่รู้หน้าตาของการเมืองใหม่ที่ตัวเองเสนอว่าจะเป็นอย่างไรและกลับยัดเยียดให้คนอื่นยอมรับ ถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมากเพราะสังคมจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ กับการต่อสู้ครั้งนี้


ขณะที่นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเรียกร้องให้แกนนำพันธมิตรฯมอบตัว ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยิงทิ้งระหว่างทางเพราะถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะยิ่งสะท้อนให้ประชาชนถึงความชัดเจนของระบบนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการต่อสู้ของขบวนการพันธมิตรฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารได้นำสติ๊กเกอร์เบื่อม็อบพันธมิตร และสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้ร่วมกันปลดความรุนแรงมาแจก ที่หน้าห้องเสวนาดีเบต 4 ขั้วของนักศึกษา

โดย มติชน
วัน อาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 09:35 น.

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน เปิดเผยถึงการหยั่งเสียงภายในกลุ่ม เพื่อเสนอชื่อบุคคลในการเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดสภาพ และประกาศถอดใจไม่ขอรับตำแหน่งอีกสมัย เพื่อเสนอต่อมติพรรคพลังประชาชนเพื่อโหวตเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ก.ย. ว่าย ส.ส.กลุ่ม ตกลงกันแล้วว่า จะเสนอชื่อ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน รักษาการรองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นนายกฯคนต่อไป โดยมั่นใจว่า น.พ.สุรพงษ์ จะสามารถบริหารบ้านเมืองได้ เพราะมีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ
ส่วนกรณีที่ นพ.สุรพงษ์ ยังมีคดีความการออกสลากเลขท้ายสองตัวและสามตัว หรือหวยบนดินนั้น นายศุภชัย กล่าวว่าย ไม่หวั่น ต้องปล่อยไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในวันที่ 15 ก.ย. ในเวลา 11.00 น.กลุ่มเพื่อนเนวินจะประชุมเพื่อขอมติกลุ่มอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนเสนอต่อที่ประชุมพรรคพลังประชาชนในวันเดียวกัน


โดย มติชน วัน เสาร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551 14:06 น.

เมื่อเวลา 09.10 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 กล่าวถึงกรณีมีความพยายามปลุกให้ทหารออกมาปฏิวัติ ว่า หนึ่งคือ ถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย สองคือ เมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจากภายใน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ กลุ่มไม่เอาการปฏิวัติ และกลุ่มต่อต้านเดิมที่มีอยู่ รวมถึงผลกระทบระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจ ซึ่งจะน่าส่งผลกระทบมากและสูงกว่าที่จะรับได้ รวมถึงอาจจะไม่ได้เรียกว่า แก้ปัญหา และไม่น่าจะทำได้ เพราะมีผลกระทบถึงสองอย่างจึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ รวมถึงได้มีการประเมินบทเรียนจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้ตนมั่นใจว่า ข้าราชการในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศมีความเข้าใจสถานการณ์ ทุกคนพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี

เมื่อถามว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการสลายม็อบในช่วงสุญญากาศ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการได้ให้ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ว่า เดิมทีเขามีการชุมนุมอยู่แล้ว เมื่อพ.ร.ก.ออกมาสั่งว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งเท่ากับว่า มีการชุมนุมอยู่แล้ว แต่สั่งห้าม หมายความว่า ต้องเข้าไปดำเนินการ แต่เมื่อมีการดำเนินการไปครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผลที่ตามมายิ่งทำให้เกิดปัญหาและความไม่สงบมากกว่าเดิม อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่า แก้ปัญหา แต่ไปเพิ่มปัญหา ดังนั้นต้องใช้มิติอื่น ซึ่งขณะนี้ทางการเมืองพยามยามแก้ไขสถานการณ์ อย่างเช่นที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการดำเนินการ และประชาชนทั่วไปคงจะลดอุณหภูมิในการที่จะไปมีส่วนร่วม ดังนั้นเชื่อว่า น่าจะค่อยๆแก้ปัญหาไปได้เรื่อยๆในตัวเอง ต่อข้อซักถามว่า มีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าทหารบางกลุ่มไปล็อบบี้ทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มี เข้าใจว่าคงทำไม่ได้ เพราะนักการเมืองมีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาร่วมกันในเรื่องอื่นๆ

โดย มติชน วัน เสาร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551 13:35 น.

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 5 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ เขตสะพานสะพานสูง กรุงเทพมหานคร โดยนายอภิรักษ์ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริฯ มาใช้ จึงเป็นวิถีทางที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้เห็นความสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตร โดยวางนโยบายส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษชานเมือง เพื่อให้ชาว กทม.มีผักสดบริโภคอย่างปลอดภัย พร้อมจัดทำร้านค้าตราสัญลักษณ์กรุงเทพฯ กรีน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและจัดหาตลาดจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรให้กับเกษตรกร ตามซุปเปอร์มาเก็ต ตลาดจตุจักร โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า จะส่งเสริมการจัดตั้งโรงสีชุมชนแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว เพื่อแปรรูปและจัดจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ตามแนวพระราชดำริฯ ชุมชนละ 1 ล้านบาท จำนวน 1,200 ชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เพียงบางส่วน

Copyright © 2008 - •°¤* All About Politics *¤°• - is proudly powered by Blogger
Smashing Magazine - Design Disease - Blog and Web - Dilectio Blogger Template