โดย มติชน วัน ศุกร์ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 23:05 น.

กรณีของนายสมัคร สุนทรเวชและนายจรัญ ภักดีธนากุล อาจมีข้อเท็จจริงและองค์ประกอบแตกต่างกันในหลายประเด็น แต่เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวและเพื่อดำรงความน่าเชื่อและศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชน ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรทำเรื่องนี้ให้หระจ่าง การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำว่า ลูกจ้าง ในคดีที่ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เนื่องจากเป็นพิธีกรในรายการ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยงหกโมงเช้า ของบริษัท เฟซ มีเดีย ต้องแปลความให้กว้างกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กล่าวคือ ไม่ต้องคำนึงสภาพการจ้างหรือลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้างกับผู้รับจ้างเพียงอย่างเดียวนั้น

แต่หมายถึง ผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542)

ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าการที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนโดยได้รับค่าตอบแทนการสอน รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเอกชนประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 207 (2) และ (3) ของประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
การกระทำต้องห้ามดังกล่าวคือ

(2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

(3)ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด (ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 267)
อย่างไรก็ตาม ในกรณีคดี ชิมไปบ่นไป ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยประเด็นที่ บริษัท เฟซ มีเดียมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานหลายปีระหว่างนายสมัครกับบริษัทในเชิงธุรกิจ ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก รวมทั้งการได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจกล่าวคือได้ค่าตอบแทนเดือนละ 80,000 บาท และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังคงทำงานในลักษณะดังกล่าวต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเท่านั้น

ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุว่า
การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า ลูกจ้าง ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเหตุผล และการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย

มิฉะนั้นผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ที่รับจ้างรับค่าจ้างเป็นรายเดือนในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือน มาเป็นสินจ้างตามการทำงานที่ทำ เช่น แพทย์เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษาหรือค่าทำความเห็นมาเป็นรายครั้ง ซึ่งก็ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย

ขณะเดียวกันบริษัทเฟซ มีเดียกับมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนก็มีสถานะและวัตถุประสงค์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยบริษัท เฟซ มีเดียเป็นองค์การธุรกิจที่แสวงหากำไร ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนมิใช่องค์การธุรกิจที่แสวงกำไรตามกฎหมาย
นอกจากนั้นงานพิธีกรรายการทีวีเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ขณะที่งานสอนหนังสือเป็นการบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง

แม้กรณีของนายสมัคร และนายจรัญ อาจมีข้อเท็จจริงและองค์ประกอบแตกต่างกันในหลายประเด็น
แต่เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวและเพื่อดำรงความน่าเชื่อและศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชน ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรทำเรื่องนี้ให้หระจ่างหรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนที่สงสัยว่า พฤติการณ์และการกระทำของนายจรัญขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สามารถเข้าชื่อกันยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วินิจฉัยหรือถอดถอนนายจรัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ได้

1 Comment:

  1. Anonymous said...
    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

Post a Comment



Copyright © 2008 - •°¤* All About Politics *¤°• - is proudly powered by Blogger
Smashing Magazine - Design Disease - Blog and Web - Dilectio Blogger Template